ทำความรู้จัก พินัยกรรม แบบไหนที่กฎหมายรองรับ

15

จากที่เราได้เห็นตามข่าว กรณีปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่แบ่งกันไม่ลงตัวภายในครอบครัว หลังจากที่ผู้เจ้าของทรัพย์จากไป เพื่อเป็นการลดปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัวหรือเครือญาติ การทำ “พินัยกรรม” ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หากคุณยังไม่ได้แบ่งสมบัติให้ใครเลยขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

พินัยกรรมคืออะไร  

เป็นการแสดงเจตนาเผื่อตายหรือกำหนดการเผื่อตายในเรื่องของทรัพย์สินของตนเองหรือในการต่างๆอันจะเป็นผลให้บังคับได้ตามกฎหมาย การทำพินัยกรรมนี้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องทำแต่อย่างใด 

พินัยกรรมที่กฎหมายรับรอง หลักๆ มีอยู่ 5 รูปแบบ 

1.พินัยกรรมแบบธรรมดา 

 คือการพิมพ์ข้อความลงในกระดาษ ระบุรายการทรัพย์สิน สัดส่วน และผู้รับมรดก  ลงวัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำเอกสาร พร้อมกับลงลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมทุกหน้า ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และลงลายมือชื่อรับรอง 

2.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ 

คือการเขียนพินัยกรรมทั้งหมดด้วยลายมือตนเอง ลงวัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำเอกสาร พร้อมกำกับลายมือชื่อ ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ พินัยกรรมรูปแบบนี้ถือว่าสะดวกที่สุด ปลอมแปลงได้ยาก แต่ควรจะแจ้งคนใกล้ชิดไว้ด้วย  

3.พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา 

ในกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นๆ ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายหรือภาวะคับขัน ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนาและแจ้งต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ถึงพินัยกรรมที่ต้องการทำและรายละเอียด เมื่อพยานรับทราบแล้วให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอโดยเร็วที่สุด พร้อมระบุวัน เดือน ปี สถานที่ทำพินัยกรรมและเหตุที่เกิด โดยเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย 

4.พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง 

ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งเจ้าพนักงานที่เขตหรืออำเภอ ถึงความต้องการทำพินัยกรรม เมื่อเจ้าพนักงานรับทราบ ก็จะอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานอีกอย่างน้อย 2 คนฟัง เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ผู้ทำพินัยกรรมและพยานก็จะลงลายมือชื่อ อีกทั้งเจ้าพนักงานก็จะลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราตำแหน่ง และระบุวัน เดือน ปี และสถานที่ไว้ด้วย 

5.พินัยกรรมแบบเอกสารลับ 

ผู้ทำพินัยกรรมจัดทำเอกสารโดยปิดผนึกไว้ แล้วจึงไปที่เขตหรืออำเภอที่สะดวก โดยผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งพยานอย่างน้อย 2 คน ว่านี่คือพินัยกรรมของตน พร้อมด้วยรายละเอียด จากนั้นให้ลงลายมือชื่อ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกถ้อยคำ พร้อมลง วัน เดือน ปี และสถานที่ไว้บนซอง รวมทั้งประทับตราตำแหน่งไว้ ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึกด้วย 

การทำพินัยกรรมเป็นการวางแผนชีวิตอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการแช่งตัวเองอย่างที่เชื่อๆกัน แต่เป็นการส่งมอบความมั่นคงให้กลับคนที่รัก ทายาท ลดการทะเลาะกันในการแบ่งสมบัติ 

Previous article5 เคล็ดลับเลือกบริการส่งของจากไทยไปอเมริกา ราคาไม่แพง
Next articleจะดูได้อย่างไรว่าสินเชื่อธนาคารไหนอนุมัติง่าย หาคำตอบเลย